**บทความนี้ทางร้านได้ คัดลอกเนื้อหามาบางส่วนเฉพาะที่พูดถึงตัวร้าน จากหนังคอลัมน์ "ซะป๊ะ...เรื่องเก่า" - หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์** *ในส่วนของบทความเต็ม ทุกท่านสามารถอ่านได้จากลิงค์ที่ให้ไว้ด้านล่าง*
ย่านกาดหลวง (๙) - ร้านเชียงใหม่พลาสติก
ร้านเชียงใหม่ฟ้าใสเซ็นเตอร์หรือเชียงใหม่พลาสติก ในอดีตเคยเป็นบ้านของนางน้อย นิมมลรัตน์เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวมีใต้ถุน ส่วนด้านหน้าสร้างเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวที่เรียกว่า “เฮือนแป” ให้เช่า
เจ้าของคือ นางน้อย นิมมลรัตน์ ห้องแถวของนางน้อยมี ๔ ห้อง บางห้องแบ่งให้เช่า ร้านที่มาเช่าในอดีต คือ ร้านดีไทย ๑ ห้อง ร้านแซ่เอ็ง ๑ ห้อง และร้านไทยจำเริญ ๑ ห้องขายเสื้อผ้า
ต่อมานางน้อย รื้อห้องแถวไม้เดิมและสร้างเป็นตึก ๔ ห้อง แบ่งให้รุ่นลูกที่ชาวกาดหลวงจำได้ เช่น เฮียชิ้ง เฮียเตี๋ย เจ๊ลั้ง(แต่งงานกับพ่อเลี้ยงจันทร์ ชนะนนท์)
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์และเปลี่ยนเป็นร้านฟ้าใสหรือเชียงใหม่พลาสติกปัจจุบันควบคุมกิจการโดย คุณจิตรา ตันตาคมและรุ่นลูก
คุณจิตรา เดิมครอบครัวค้าขายอยู่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ต่อมาจึงย้ายมาค้าขายอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เล่าเรื่องการค้าขายสมัยก่อนว่า
“พ่อแม่มีร้านที่อำเภอบ้านโฮ่ง สมัยนั้นสินค้าต่างๆ มักมาซื้อที่เชียงใหม่ ส่วนตัวจังหวัดลำพูนไปมาลำบากยังไม่มีถนน สมัยก่อนตำรวจบ้านโฮ่งจะไปรับเงินเดือนที่เมืองลำพูน ต้องเดินทางไปเชียงใหม่ก่อนและนั่งรถจากเชียงใหม่มารับเงินเดือนที่ลำพูน ภายหลังจึงมีการตัดถนนจากบ้านโฮ่งตัดเข้าลำพูนทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น
“การเดินทางจากบ้านโฮ่งมาเชียงใหม่ ต้องขี่จักรยานมาบ้านท่าลี่ เขตอำเภอป่าซางและข้ามแม่น้ำปิงมายังฝั่งอำเภอจอมทอง หลังจากนั้นนั่งรถโดยสารเข้าเชียงใหม่ สมัยนั้นรถยนต์ใช้ฟืน จำได้ว่าคราวหนึ่งจะกลับบ้านโฮ่ง ผ่านทุ่งเสี้ยวไป เลยอำเภอสันป่าตอง เลยบ้านสามหลัง ระหว่างอยู่กลางป่ารถเกิดเสีย ต้องนอนกันกลางป่า
“สมัยก่อนคนต้องทำงานหนัก ส่วนคนสมัยนี้ทำงานน้อย ทันได้เห็นนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีต ส.ส.ลำปาง นำเกลือบรรทุกเกวียนตระเวนขายที่อำเภอบ้านโฮ่ง ลำพูนและเขตจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์เก่งค้าขาย ฐานะดี ได้ภรรยาคนเป็นคนบ้านโฮ่งด้วย
“พ่อขี่จักรยานจากบ้านโฮ่ง มีลูก ๒ คนนั่งมาด้วยด้านหน้า ๑ คน หลัง ๑ คน มาท่าลี่ ลงเรือข้ามมาจอมทองและขึ้นรถโดยสารมาเชียงใหม่ ส่วนจักรยานฝากบ้านญาติไว้
“ป้า(จิตรา)มาอยู่เชียงใหม่เมื่ออายุ ๒๐ ปีเศษ มาอยู่บ้านคุณชวน เป็นน้องของแม่ เขาเป็นเจ้าของร้านยนต์ศิลป์ หน้าตลาดสันป่าข่อย คุณชวน เรียนเก่ง เรียนที่ลำพูน เคยได้พาสชั้น จะไปสอบนายร้อยตำรวจ แต่ญาติพี่น้องบอกว่าเงินเดือนน้อย ขณะนั้นเงินเดือนประมาณ ๘๐๐ บาท ญาติแนะนำงานให้เป็นผู้จัดการโรงน้ำแข็งดีกว่า เพราะรู้หนังสือจีน หนังสือไทย และรู้ภาษาฝรั่งด้วย มีโรงน้ำแข็งอยู่ที่ย่านวัดเกตการาม ปัจจุบันคือ ตรงข้ามร้านอาหารกู๊ดวิว สมัยนั้นตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลไล่คนจีนออกจากเชียงใหม่ทำให้ขาดผู้จัดการ คุณชวนมาเป็นผู้จัดการโรงน้ำแข็ง
“หลังจากแต่งงานแล้ว ป้าเข้ามาอยู่ที่บ้านของสามีที่ร้านตันย่งฮง ทำงานบ้านหลายอย่าง ซักผ้า รีดผ้า เป็นครอบครัวใหญ่อยู่กันหลายคน ต่อมาแยกครอบครัวไปอยู่บ้านข้างร้านเจี่ยท่งเฮง ที่ดินเราซื้อไว้ ลูกคนเล็กมาเกิดที่บ้านหลังนี้ ส่วน ๕ คนเกิดที่ร้านตันย่งฮง ย้ายไปอยู่ที่โน่น สามียังต้องมาช่วยค้าขายที่ร้าน ส่วนป้าทำหน้าที่เลี้ยงลูก
“ต่อมาสามีได้รับมรดกตึกแถว ๑ ห้อง ที่ตรอกข่วงเมรุ จึงมาค้าขายอยู่ที่ตึกแถว ขายพลาสติก จึงตั้งชื่อร้านว่าเชียงใหม่พลาสติก เป็นร้านแรกของเชียงใหม่ที่ทำขวดพลาสติก
“เริ่มแรกนั้นคนกรุงเทพฯ นำยากันยุงมาให้ขายและนำตลับพลาสติกมาให้ขายด้วย ต่อมาจึงได้เรียนรู้ด้านการผลิตตลับพลาสติก ขวดพลาสติกและฝาจุก โดยซื้อเม็ดพลาสติกมาเป็นถุง มาใช้ความร้อนหลอมรวมกันและใช้เครื่องมือที่ใช้แรงคนอัดเป็นตลับพลาสติก สมัยนั้นเชียงใหม่ยังไม่มีใครคิดทำขาย ลุงประยูร เริ่มคนแรก ลูกค้ามาซื้อตลับพลาสติกไปใช้บรรจุยาแผนโบราณชนิดผงและชนิดที่เป็นขี้ผึ้ง
“ขณะนั้นจ้างลูกจ้าง ๒ คน ช่วยงาน ทำจุกขวดด้วย ทำเป็นแผงและใช้มือบิดแยกออก
“ต่อมาซื้อที่ด้านหลัง ตรงนี้เป็นหลังตึกร้านบุญส่ง(ปัจจุบันคือร้านเจียงฮะ สมัยนั้นเขาจะขาย ๓ ล้าน ๕ แสนบาท แต่เราไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อได้ เจ้าของร้านเจียงฮะซื้อไว้ เดิมเป็นของภรรยาเสี่ยฮวด(นายชาญ ปัทมอดิสัย)
“ที่ดินที่ซื้อเพิ่ม เดิมเป็นสวนลิ้นจี่ สวนลำไย จึงซื้อสวนไว้ ราคาหลายแสนแต่ไม่ถึงล้าน ก่อสร้างร้านเพิ่มเติมเพื่อให้วางสินค้าได้มากขึ้น
“ต่อมาด้านติดถนนวิชยานนท์ได้ซื้อต่อจากเจ้าของร้านแฟชั่นสโตร์ และสร้างอาคารเชื่อมต่อมาด้านหลัง ส่วนที่ว่างถนนท่าแพข้างร้านรัตนผล เจ้าของเดิมเป็นตระกูลพงษ์พิพัฒน์ เราไปติดต่อขอซื้อ เจ้าของขายจึงซื้อไว้เพราะหลังร้านเชียงใหม่พลาสติกติดกับที่ดินนี้ อนาคตอาจสร้างเชื่อมไปออกถนนท่าแพ”
เล่าเรื่องและเรียบเรียง: พันตำรวจเอก อนุ เนินหาด ที่มา: คอลัมน์ ซะป๊ะ...เรื่องเก่า ตอน ย่านกาดหลวง(๙) - หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ |